พิพิธภัณฑ์จวนผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม
- By : En_admin
- Category : สถานที่ท่องเที่ยว
ประวัติความเป็นมา
พิพิธภัณฑ์จวนผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม (หลังเก่า) สร้างขึ้นประมาณปี พ.ศ. ๒๔๕๗ โดยพระยาพนมนครานุรักษ์ (อุ้ย นาครทรรพ) ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนตัว โดยว่าจ้างให้นายกูบาเจริญ เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง ปี พ.ศ. ๒๔๖๘ พระยาพนมนครานุรักษ์ (อุ้ย นาครทรรพ) ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งสมุหเทศาภิบาล จึงขายจวนหลังนี้ให้กระทรวงมหาดใช้เป็นจวนผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม วันที่ ๑๒-๑๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๘ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระราชินีได้เสด็จฯ เยี่ยมราษฎรจังหวัดนครพนม และประทับแรมที่จวนผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม ปี พ.ศ. ๒๕๒๗ อาคารถูกปิดตาย เนื่องจากความเก่าและทรุดโทรม จนกระทั่ง ปี พ.ศ. ๒๕๔๘ อาคารถูกยกเป็นโบราณสถานของกรมศิลปากร และบูรณะในปี ๒๔๔๙ และจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ในที่สุด
นิทรรศการชุด “เล่าขาน อดีตกาล เมืองนคร” แบ่งเป็น 2 ชั้น มีทั้งหมด 10 ห้อง ดังนี้
1) ห้องพื้นเมืองนคร ตำนานอุรังคธาตุได้กล่าวถึงความเป็นมาของเมืองศรีโคตบูร จนเป็นมรุกขนคร มีบุคคลสำคัญและสถานที่ต่างๆ เกิดขึ้นมากมายก่อนพื้นที่ตรงนี้จะกลายมาเป็นจังหวัดนครพนมในปัจจุบัน
2) ห้องเจ้าเมืองเรืองนาม จวนแห่งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนมมาตั้งแต่อดีต ห้องนี้จึงรวบรวมภาพของผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนมทั้งหมดตั้งแต่คนแรกจนถึงคนปัจจุบันที่หาชมได้ยากยิ่ง
3) ห้องวัฒนธรรมหลากหลาย จังหวัดนครพนมถือเป็นพื้นที่ที่มีกลุ่มชนต่างๆ เข้ามาอาศัยเป็นจำนวนมาก ก่อให้เกิดวัฒนธรรมที่เชื่อมไปสู่ความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน
4) ห้องเมื่อครั้งยังเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระราชินีได้เสด็จฯเยี่ยมราษฎรเมืองนครพนมในครั้งนั้น กลายเป็นภาพแห่งความประทับใจที่ยังตราตรึงในใจของชาวนครพนมมิลืมเลือน
5) ห้องคืนประทับแรม เมื่อครั้งที่ทั้งสองพระองค์ได้เสด็จฯเมืองนครพนมปี พ.ศ.๒๔๙๘ พระองค์ได้เข้าประทับแรมที่จวนผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เครื่องเรือนที่พระองค์ใช้นั้นได้นำมาจากพระราชวัง โดยใช้เวลาร่วมเดือนในการตกแต่ง
6) ห้องพสกนิกรแซ่ซ้อง ปี พ.ศ. ๒๔๙๘ พสกนิกรจังหวัดนครพนมต่างปลื้มปิติที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระราชินีเสด็จฯ ชาวบ้านทุกหมู่เหล่าต่างมารอรับเสด็จฯอย่างเนืองแน่น และหนึ่งในนั้นคือ คุณยายตุ้ม ผู้ถวายดอกบัวสาย
7) ห้องพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
8) ห้องเปิดบันทึกท่านสง่า การเตรียมการรอรับเสด็จฯในครั้งนั้น ท่านสง่าซึ่งเป็นปลัดจังหวัดในขณะนั้น ได้รับมอบหมายให้เป็นหัวเรือใหญ่ในการปรับปรุงจวนแห่งนี้ ท่านได้เขียนบันทึกไว้เป็นความทรงจำว่าครั้งหนึ่ง จวนแห่งนี้เคยมีการเตรียมการเพื่อรับรองเจ้านาย
9) ห้องนิทรรศการหมุนเวียน มีเรื่องราวมากมายในนครพนมที่หลายคนยังไม่รู้ ห้องนี้จึงมีเรื่องราวมาจัดแสดงแบบไม่หยุดนิ่ง
นอกจากนี้อาคารด้านหลังยังได้ปรับปรุงเพื่อจัดทำเป็นนิทรรศการไหลเรือไฟ และนิทรรศการครัว
นิทรรศการไหลเรือไฟ (เฮือนเฮือไฟ)
ประเพณีการไหลเรือไฟถือเป็นประเพณีที่มีมาตั้งแต่โบราณกาล ชาวจังหวัดนครพนมได้สืบทอดวิถีนี้จากบรรพบุรุษ จากรุ่นสู่รุ่น ด้วยที่ตั้งของเมืองอยู่ติดกับแม่น้ำ ทำให้วิถีชีวิตต้องเกี่ยวพันธ์กับสายน้ำ ตามความเชื่อของผู้คนที่อาศัยอยู่ตามลำน้ำ เชื่อว่าการไหลเรือไฟทำขึ้นเพื่อเป็นการบูชารอยพระพุทธบาท หรือเพื่อขอขมาแม่น้ำ และบูชาพระพุทธเจ้าที่เสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ซึ่งชาวนครพนมจะจัดประเพณีนี้ ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ของทุกปี
นิทรรศการแบ่งเป็น 4 ห้อง คือ 1.สืบสานประเพณี 2.งามตาไหลเรือไฟ 3.อัคคีแห่งศรัทธา และ 4.รวมใจไทนคร
นิทรรศการครัว
จำลองบรรยากาศครัวจวนผู้ว่าราชกาจังหวัดในอดีต เป็นครัวไทยโบราณ มีเตาอบขนมปังโบราณ ที่ครั้งหนึ่งเคยอบขนมปังให้ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสวย
วันและเวลาทำการ
วันพุธ – วันอาทิตย์ เวลา 09.00 น. – 1ุ6.30 น.
[ ปิดทำการ : จันทร์ – อังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ]
ค่าเข้าชม
เข้าชมฟรี
ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
พิพิธภัณฑ์ โทร. 08-5853-8503
หรือ สำนักงานจังหวัดนครพนม ชั้น 2 ศาลากลางจังหวัดนครพนม (หลังใหม่)
ถ.อภิบาลบัญชา ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครพนม 48000
โทร. 0-4251-1287, 0-4251-1574, 0-4251-1062
โทรสาร. 0-4251-1287
ข้อมูล : สำนักงานจังหวัดนครพนม
ที่มาของภาพ http://www2.nakhonphanom.go.th/files/com_travel/2020-08_17cc6865f01b5e8.jpg
ที่ตั้ง
ที่มาของข้อมูล พิพิธภัณฑ์จวนผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม (หลังเก่า) (nakhonphanom.go.th)